หากวัดเป็นปรอทก็แทบจะทะลุหลอดเทอร์โมมิเตอร์ ดูจากผลงานนักกีฬาไทยจากโควตาไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ และอีกมุมหนึ่งจากกีฬาอาชีพ แบดมินตันคว้าแชมป์ 3 รายการ, กอล์ฟก็คว้าแชมป์แอลพีจีเอ 3 รายการเช่นเดียวกันจากคนชื่อ “เม” เหมือนกัน และรวมไปถึงเป้าบิน “น้องณี” สุทธิยา จิวเฉลิมมิตร คว้าแชมป์โลกได้ 2 รายการ นี่ยังไม่รวมรายการยิบย่อยอีกมากมาย
ในจำนวนนี้คงมองข้าม สมาคมกีฬายิมนาสติกแห่งประเทศไทย ไม่ได้อย่างเด็ดขาด หลังจากที่จำศีลอยู่ไม่น้อยกว่า 3 ปี เหมือนกับสมาคมปิด จนการกีฬาแห่งประเทศไทยได้ประกาศให้ยิมนาสติกหลุดจากวงจร “สปอร์ตฮีโร่” ในทันที แต่พอได้หัวเรือใหม่เป็น น.ต.ศรายุทธ พัฒนศักดิ์ พร้อมด้วยทีมบริหารคุณภาพ นำโดย ดร.กุสุมาลย์ ประเสริฐศรี ผู้ที่อยู่กับกีฬายิมนาสติกมาตลอดชีวิต เปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ มีการประชุมผู้บริหารทุกเดือน เพื่อวางแผนส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันรายการนานาชาติ หวังสร้างเพดานนักกีฬายิมนาสติกของไทยไปสู่สากลในแบบฉบับบันได 3 ขั้น มีการส่งแข่งขันเกือบทุกเดือน บางเดือนส่งแข่งมากถึง 3 รายการ
ก่อนหน้านี้รายการ “สิงคโปร์ โอเพ่น” ได้ขับเคี่ยวกับนักกีฬายิมนาสติกจาก 4 ชาติได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ โดยทีมไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน 6 คนประกอบด้วย อนุชา พรสิริจรรยา, ณัฐติพงษ์ เอียดวงศ์, สมภพ สวนดอกไม้, วัชพล พิมพิลา, น.ส.ฐิดาภรณ์ คันธะระ และ ด.ญ.ศศิวิมล เมืองพวน โดย เอกราช จันทร์กรุง, กนกรัตน์ ตันติกรพรรณ, มร.เฟง ซา คือชุดผู้ฝึกสอน และมี นายวีระพงษ์ บริสุทธิ์สุขกมล ผู้ใหญ่ใจดีในฐานะผู้จัดการทีม ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารออมสิน
ก่อนเดินทางตั้งความหวังไว้แค่ 4 เหรียญทอง แต่พอแข่งจบนักกีฬาสามารถสร้างผลงานทำได้มากถึง 11 เหรียญทอง 4 เหรียญเงิน และ 7 เหรียญทองแดง เฉพาะ ณัฐติพงษ์ เอียดวงษ์ คนเดียวคว้ามาได้มากถึง 6 เหรียญทอง ที่เหลือกระจายกันไปทั้งเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง
เมื่อผลงานดีไม่ต่างจากมะม่วง เมื่อสุกงอมกลิ่นมักจะโชยหอมไปทั่ว ดึงดูดสื่อมวลชน ทั้ง ช่อง 7 สี เดินทางมาสัมภาษณ์ถ่ายทอดสด, นอกจากนี้ช่อง TNN 24 และ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ติดต่อไปออกรายการ ทั้งที่ในช่วงเวลาดังกล่าว ฟุตบอลไทยก็ได้แชมป์ “คิงส์คัพ” ฟุตบอล 21 ปี ก็ได้แชมป์ 4 เส้าที่ประเทศมาเลเซีย, ฟุตบอลหญิง 14 ปีก็ได้แชมป์ อาเซียน ที่ สปป.ลาว สื่อกลับไม่สนใจเท่ากับยิมนาสติก กับผลงานหวานหอม 11 เหรียญทอง
นายสกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ทันทีที่ได้รับทราบข่าว แค่เจอหน้ากันก็ฉีกยิ้มแบบเซอร์ไพรส์ “ขอแสดงความยินดีกับผลงาน 11 เหรียญทอง และชื่นชมผู้ที่ทำ 6 เหรียญทอง ไม่ธรรมดา ทีแรกผมนึกว่ายิมนาสติกตายไปแล้ว ผมนี่แหละเป็นผู้ที่พูดว่ายิมนาสติกตายไปแล้ว จึงได้ตัดออกจาก “สปอร์ตฮีโร่” แต่ตอนนี้พวกคุณได้แสดงให้ผมเห็นว่า ยิมนาสติกยังไม่ตาย สมาคมต้องรักษานักกีฬาชุดนี้ไว้ให้ดี คนกลุ่มนี้คือกลุ่มกำลังสำคัญ รื้อฟื้นมาให้ได้ภายใน 1-2 ปีนี้ เอาให้ดังเลย “เอาเบาะเราคืนมา”
การกีฬาแห่งประเทศไทยยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งในปี 2560 กกท.จะซื้ออุปกรณ์ยิมนาสติกใหม่ทั้งหมด นำมาติดตั้งไว้ที่ศูนย์ฝึกกีฬาในร่ม เพื่อให้นักกีฬาได้ฝึกซ้อมกันอย่างเต็มที่ เดินทางไป-มาสะดวก ใกล้กับสถานศึกษา ใกล้กับหอพักนักกีฬา, ใกล้กับศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา, ใกล้กับแพทย์ ใกล้ศูนย์สุขภาพ ใกล้คลินิกหมอกายภาพ ใกล้หมอจิตวิทยา และโภชนาการ เอาให้ครบทุกด้าน ในเมื่อวันนี้ยิมนาสติกมีผลงาน กกท.ก็ยินดีให้การสนับสนุนดูแล อยู่ที่สมาคมฯ ต้องรีบทำแผนให้ฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศ เพื่อเขาจะได้อนุมัติงบประมาณให้ อะไรที่ดีการกีฬาแห่งประเทศไทยไม่ลังเลที่จะช่วยเหลือและสนับสนุน”
น.ต.ศรายุทธ พัฒนศักดิ์ ผู้ที่ต่อสู้เพื่อความอยู่รอดมาโดยตลอด วันนี้การต่อสู้สัมฤทธิผลไม่ต่างกับการที่ได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ กล่าวทั้งรอยยิ้มและน้ำตา “ยิมศิลป์ไม่เคยหยุดซ้อม เราไม่เคยท้อใจ เราให้กำลังใจซึ่งกันและกันมาเสมอ เรารักกัน เป็นครอบครัวเดียวกันเป็นปึกแผ่น วันนี้เราเดินมาถูกทางแล้ว เราจะจับมือเดินหน้าร่วมกันต่อไป…”
การทำงานให้สัมฤทธิผลจำเป็นต้องมีทีมงานที่มีคุณภาพ วีระพงษ์ บริสุทธิ์สุขกมล ผู้จัดการทีมเปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ที่ตามหา เป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งพี่ เป็นทั้งพ่อของนักกีฬา ทุ่มเทสุดตัวยอมกินนอนร่วมกับนักกีฬาตลอดทั้งอาทิตย์จนประสบความสำเร็จชนิดที่เจ้าตัวก็คิดไม่ถึง
“ผมทำงานมาหลายสมาคม บ้านผมคือสมาคมกีฬาบิลเลียด (สนุกเกอร์) บ้านผมคือสมาคมกีฬาฮอกกี้ บ้านผมคือสมาคมกีฬาฟลอร์บอล แต่ละสมาคมทำงานไม่เหมือนกัน มีการบริหารงานต่างกัน ทำให้ผมเรียนรู้เข้าใจความรู้สึกของพวกเรา อะไรที่ให้ได้ผมยินดี และไม่ต้องการได้รับอะไรจากพวกเรา ขอเพียงอย่างเดียวให้พวกเราที่เป็นนักกีฬาทุกคน ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่ขอให้คิดถึงชื่อเสียงของประเทศชาติเป็นที่สูงสุด นั่นต่างหากที่ผมต้องการมากกว่าสิ่งของที่พวกคุณจะมอบให้ผม ผมยินดีที่จะอยู่เคียงข้างกับพวกคุณ ภายใต้ครอบครัวยิมนาสติกที่แสนอบอุ่น”
และนี่คือเบื้องหลังแห่งความเจ็บปวด ที่นำมาสู่ความสำเร็จ เปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายที่เกือบถูกตัดขาดซึ่งไม่ต่างจากการตายทั้งเป็น โชคดีที่ได้ยาดีฟื้นคืนชีพอีกหน รายการต่อไป “สิงคโปร์ โอเพ่น” ปลายเดือนนี้ คืออีกหนึ่งบทพิสูจน์ หากสำเร็จจะสามารถทำให้ความฝันกลายเป็นจริง
วีระพงษ์ บริสุทธิ์สุขกมล…รายงาน